การนำเข้าเคมีภัณฑ์ หรือ การนำเข้าสารเคมี ถือเป็นงานปราบเซียนสำหรับมือใหม่ที่เริ่มนำเข้าสินค้า เนื่องจากต้องใช้เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้ามากมาย อีกทั้งยังต้องตรวจสอบชนิดของสารเคมีที่นำเข้าอีกด้วยว่าเป็นชนิดใด นำเข้าช่องทางไหนได้บ้าง อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐบาลหลายส่วน เมื่อเร็วๆนี้มีลูกค้าเข้ามาสอบถามเรื่องการนำเข้าสารเคมีพอดี เลยได้โอกาสเขียนแนะนำวิธีการนำเข้ากันซะเลย
ข้อแนะนำก่อน การนำเข้าเคมีภัณฑ์
- ขอเอกสาร MSDS (Material Safety Data Sheet) หรือเอกสารที่บอกส่วนประกอบอย่างละเอียดของเคมีภัณฑ์ หรือสารเคมีจากผู้ขาย โดยส่วนผสมของเคมีภัณฑ์ต้องรวมกันให้ได้ 100%
- ยื่นข้อหารือเคมีภัณฑ์กับสำนักควบคุมวัตถุอันตราย ซึ่งจะทราบผลทันทีว่าเป็นสารเคมีประเภทไหน มีหน่วยงานไหนกำกับดูแล
- หลังจากทราบชนิดของเคมีภัณฑ์ ก็สามารถจัดการเลือกการขนส่งสินค้าได้ บางชนิดส่งทางอากาศได้ บางชนิดส่งทางเรือแบบตู้รวมได้ หรือบางชนิดถูกควบคุมพิเศษมีแค่บางสายเรือที่รับนำเข้าเท่านั้น
เคมีภัณฑ์ในประเทศไทยถูกแบ่งเป็น 3 ระดับ ซึ่งในแต่ละระดับมีเอกสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างกัน ขอย้ำว่าก่อน การนำเข้าเคมีภัณฑ์ หรือ การนำเข้าสารเคมี ผู้ซื้อจะต้องทำการตรวจสอบประเภทของเคมีภัณฑ์ทุกครั้ง ซึ่งเคมีภัณฑ์ในแต่ละประเภทเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐบาล และต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้
วัตถุอันตรายชนิดที่ 1
- ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้า แต่ต้องยื่นแจ้งนำเข้าตามแบบฟอร์ม วอ./อก.6 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนไปดำเนินการตามพิธีการศุลกากร
- สถานที่แจ้งมี 2 แห่งคือ สำนักควบคุมวัตถุอันตรายกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือแจ้งผ่านอินเตอร์เน็ทที่ http://www2.diw.go.th/haz/hazdiw/select_o.asp
- จะต้องยื่นแจ้ง ตาม วอ./อก.7 ในกรณีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริง ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๔๗
- เอกสารที่ใช้ได้แก่ สำเนา B/L และ INVIOCE 1 ชุด
- เอกสารแบบแจ้งวอ./อก6 2 ชุด
- สำเนาหนังสือตอบข้อหารือวัตถุอันตรายพร้อมเอกสารแนบ (ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ลงลายมือชื่อรับรองเอกสาร) 1 ชุด
วัตถุอันตรายชนิดที่ 2
- ต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย
- ต้องแจ้งตามแบบฟอร์มใบแจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ชนิดที่ 2 (หลังจากที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว)
- ยื่นแจ้ง วอ./อก.6 ก่อนไปดำเนินการตามพิธีการศุลกากร
- จะต้องมีสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นไปตาม พรบ.วัตถุอันตรายและประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
- จะต้องยื่นแจ้ง ตาม วอ./อก.7 ในกรณีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริง ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๔๗
- เอกสารที่ใช้ได้แก่ สำเนา B/L และ INVIOCE 1 ชุด
- เอกสารแบบแจ้งวอ./อก6 2 ชุด
- สำเนาทะเบียน (ถ้ามี) 1 ชุด
- สำเนาใบแจ้งดำเนินการฯชนิดที่ 2 1 ชุด
วัตถุอันตรายชนิดที่ 3
- ต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย
- ต้องมีใบอนุญาต และได้รับการอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนจึงจะนำเข้าได้
- ต้องมีสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นไปตาม พรบ.วัตถุอันตรายและประกาศกระทรวง
- ยื่นแจ้ง วอ./อก.6 ก่อนไปดำเนินการตามพิธีการศุลกากร
- จะต้องยื่นแจ้ง ตาม วอ./อก.7 ในกรณีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริง ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๔๗
- เอกสารที่ใช้ได้แก่ สำเนา B/L และ INVIOCE 1 ชุด
- เอกสารแบบแจ้งวอ./อก6 2 ชุด
- สำเนาทะเบียน(ถ้ามี) 1 ชุด
- สำเนาใบอนุญาตฯ 1 ชุด
- ใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี และ 3 ปี และมีเงื่อนไขกำกับการอนุญาตในบางรายการ
การขออนุญาตนำเข้าเคมีภัณฑ์อันตราย
กรณีที่ผู้ซื้อต้องการนำเข้าเคมีภัณฑ์ อันตรายชนิดที่ 2 และชนิดที่ 3 จำเป็นต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย และมีสถานที่จัดเก็บที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีเอกสารในการขออนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายดังนี้
- คำขออนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายที่กรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
- คำขอชำระค่าธรรมเนียมรายปีตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 (วอ.10) กรณีที่เป็นการยื่นขออนุญาตครั้งแรก
- สำเนาใบเสร็จรับเงินการชำระค่าธรรมเนียมรายปี กรณีที่เคยได้รับอนุญาตแล้ว
- สำเนาใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย (ถ้ามี)
- สำเนาใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) หรือ (กนอ.)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด
- หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทน)
- หนังสือสัญญาเช่าพื้นที่/โกดัง (กรณีสถานที่เก็บมิใช่ของตนเอง) และสำเนาใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย
- แผนผังสังเขปแสดงรายละเอียด ที่ตั้ง เส้นทางไปยังสถานที่เก็บและบริเวณข้างเคียง
- แผนผังแสดงรายละเอียดบอกขนาดความกว้าง และความยาวของอาคารที่ใช้เป็นสถานที่เก็บวัตถุอันตราย
- ภาพถ่ายหรือสำเนาภาพถ่ายบรรจุภัณฑ์
- แผนป้องกันระงับอุบัติภัย (Emergency plan) กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
- กรณีเป็น Tank farm ต้องมีเอกสารรับรองผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงจากผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
5 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ การนำเข้าเคมีภัณฑ์
1. เคมีภัณฑ์ คืออะไร ?
สินค้าที่มีลักษณะเป็นของเหลว หรือเกล็ดผลึก ที่มีส่วนผสมของสารเคมีมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป ใส่ขวด ใส่ถุง กระป๋องสเปย์ หรือภาชนะใด ๆ ก็แล้วแต่ เรียกว่าสินค้าเคมีภัณฑ์ทั้งหมด สังเกตที่แพคเกจจะมีสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับเคมีภัณฑ์อยู่
2. ก่อนนำเข้าเคมีภัณฑ์ ควรทำอย่างไร ?
ย้ำอีกครั้งว่าก่อนนำเข้าเคมีภัณฑ์ ต้องตรวจสอบประเภทของเคมีภัณฑ์ก่อนนำเข้าทุกครั้ง หากแจ๊คพอตพบว่าเป็น ชนิดที่ 2 และ 3 นั่นแปลว่าคุณกำลังเจองานหิน ต้องมีสถานที่จัดเก็บที่ปลอดภัยและยื่นขออนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
3. เอกสารที่จำเป็น มีอะไร ?
หากจะนำเข้าสารเคมีทุกครั้ง ให้เตรียมขอเอกสารจากซัพพลายเออร์ ที่เรียกว่า MSDS (Material Safety Data Sheet) MSDS จำเป็นต้องบอกส่วนผสมของสารเคมีอย่างละเอียด รวมกันได้ 100% ถึงจะสามารถใช้งานได้อย่างอย่างสมบูรณ์
4. นำเข้าจำนวนไม่มาก ควรทำอย่างไร ?
หากต้องการนำเข้ามาเพียงปริมาณเล็กน้อย แนะนำให้นำเข้ามากับคูเรียร์ สะดวกและประหยัดที่สุดแล้วค่ะ แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการนำเข้าจะสูงกว่าสินค้าประเภทอื่น ๆ แต่ก็ถูกกว่าเมื่อเทียบกับการนำเข้าทางแอร์หรือเรือโดยตรง
5. เป็นร้านค้าเล็ก ๆ มีข้อแนะนำอย่างไร ?
วัตถุอันตราย ประเภทที่ 1 : ส่วนใหญ่เท่าที่เจอสารเคมีที่ผสมมาในตัวสินค้าประเภทน้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ มักเป็นเคมีภัณฑ์ประเภทที่ 1 สามารถนำเข้าได้ แต่ต้องมี MSDS ประกอบการนำเข้าทุกครั้ง
วัตถุอันตราย ประเภทที่ 2 และ 3 : หากตรวจสอบว่าสินค้าที่อยากนำเข้า อยู่ในหมวดนี้ เราแนะนำให้มองหาผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ หรือจากโรงงานใหม่ ที่ไม่เป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อมจนเกินไป เพราะแม้ว่าคุณจะมีชิปปิ้งที่เก่งแค่ไหน ยังไงก็ต้องยื่นขออนุญาตินำเข้าและตรวจสอบสถานที่จัดเก็บจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนจะนำเข้าอยู่ดี ต้องลองชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าดูอีกทีค่ะ
ติดตามบทความการ นำเข้าสินค้าจากจีน โรงงานจีน ที่น่าสนใจ และความรู้เกี่ยวกับการนำเข้าเรื่องต่าง ๆ กับเราได้ ทยอยอัพเดทให้อ่านกันแน่นอน
Source : กระทรวงอุตสาหกรรม http://www2.diw.go.th
ถ้าซัพพลายเออร์ไม่อยากเปิดเผยข้อมูลMSDS จะนำเข้าได้มั้ยค่ะ ผู้นำเข้าจะต้องดำเนินการอย่างไรค่ะ